การเปลี่ยนแปลงในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ทำให้แนวโน้มการทำธุรกิจในต่างประเทศ ทำให้การทำธุรกิจในประเทศไทยเปลี่ยนแปลงตามไปด้วย ทั้งการเปลี่ยนแปลงในมิติของเทคโนโลยี พฤติกรรมของผู้บริโภค ลักษณะการทำงานของคนรุ่นใหม่ ฯลฯ ซึ่งล้วนแล้วแต่เกี่ยวเนื่องกับแวดวงธุรกิจในปีที่ผ่านมา รวมถึงปีนี้
“กรุงเทพธุรกิจ” รวบรวมคำศัพท์ 10 คำ ที่มีเข้ามามีอิทธิพล หรือเกี่ยวข้องในแวดวงธุรกิจปี 2020 ในวงกว้าง ซึ่งคุณจะต้องได้พบหรือได้ยินคำเหล่านี้มากยิ่งขึ้นเรื่อยๆ
NextGen Work หรือ การทำงานรูปแบบใหม่ของคยุคใหม่ คือ ลักษณะการทำงานที่เน้นอิสระในการเลือกงาน และจัดระบบการทำงานของแต่ละคน ซึ่งเอื้อให้สามารถจัดการเวลาการทำงานกับการใช้ชีวิตส่วนตัวให้เกิดความสมดุลตามความต้องการ ทั้งยังเอื้อให้สามารถรับงานจากผู้ว่าจ้างหลายที่พร้อมกันได้ ทำให้มีโอกาสสร้างรายได้ที่เพิ่มขึ้น
Agile หลักการทำงานแบบ Agile เป็นแนวทางการทำงานที่องค์กรธุรกิจ โดยเฉพาะองค์กรใหญ่ๆ เริ่มนำมาใช้ในการทำงานในยุคดิจิทัล เนื่องจาก Agile คือแนวทางการทำงานอย่างรวดเร็ว กระชับ มีความยืดหยุ่น พร้อมปรับเปลี่ยนไปตามการเปลี่ยนแปลงรอบข้างได้เสมอ ซึ่งการประยุกต์ใช้แนวคิดแบบ Agile สามารถใช้ได้กับการทำงานในแบบอื่นๆ มิได้จำกัดแค่ในแวดวง IT หรือ Software Development โดยการทำงานลักษณะนี้ต้องอาศัยมุมมอง และวิสัยทัศน์ใหม่ๆ ของผู้บริหาร การปรับตัวของคนในองค์กร เพื่อให้บรรลุเป้าหมายตามที่ตั้งไว้
Digital Disruption การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอย่างฉับพลัน โดยมีผลสืบเนื่องมาจากการพัฒนาเทคโนโลยีสู่ระบบดิจิทัล ที่ไม่ใช่แค่การเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยี แต่นำไปสู่รูปแบบการทำงานใหม่ โมเดลธุรกิจแบบใหม่ วิถีชีวิตของผู้คนที่สะดวกสบายขึ้น แม้ Digital Disruption จะเริ่มส่งผลกระทบมาตั้งแต่ช่วง หลายปีก่อน แต่ยังคงดำเนินไปอย่างต่อเนื่องในศักราช 2020 นี้ และจะส่งผลกระทบกับผู้ที่ไม่ปรับตัวชัดเจนมากขึ้นเรื่อยๆ เช่นกัน
AI (Artificial Intelligence) มีความหมายเป็นภาษาไทยว่า "ปัญญาประดิษฐ์" นับเป็นอีกหนึ่งเทรนด์ทางเทคโนโลยีที่มาแรง ทำให้ได้ยินหนาหูในช่วงปีสองปีที่ผ่านมาว่า AI กำลังจะพลิกโลก และส่งผลกระทบต่อการทำงานของผู้คนจำนวนมาก เนื่องจาก AI ทำหน้าที่เป็นมันสมองของเทคโนโลยีต่างๆ โดยมีลักษณะกลไกการทำงานคล้ายๆ กับสมองมนุษย์ที่มีการวางแผนขั้นตอนการเรียนรู้ การคิด การกระทำ การตัดสินใจ การปรับตัว การแก้ปัญหา ซึ่งบทบาทเหล่านี้เริ่มเข้ามาทำหน้าที่แทนการทำงานของมนุษย์บางส่วน โดยเฉพาะงานที่ไม่ต้องอาศัยฝีมือรวมถึงงาน Routine
IoT (Internet of Things) หรือ “อินเทอร์เน็ตของสรรพสิ่ง” ในภาษาไทยหมายถึง วัตถุ อุปกรณ์ พาหนะ สิ่งของเครื่องใช้ หรืออุปกรณ์ใดๆ ที่มนุษย์สร้างขึ้นโดยมีการฝังตัวของวงจรอิเล็กทรอนิกส์ ซอฟต์แวร์ เซ็นเซอร์ ทำให้สามารถเก็บบันทึกข้อมูล แลกเปลี่ยนข้อมูล หรือควบคุมได้จากระยะไกล การเปลี่ยนแปลงเหล่านี้พลิกกระบวนการทำงานแบบเดิมๆ ที่ต้องใช้มนุษย์ในการดำเนินการเป็นการควบคุมผ่านอินเทอร์เน็ต หรือตั้งระบบอัตโนมัติแทน เช่น การใช้ IoT ในทางการผ่าตัดจากทางไกล โดยให้แพทย์ผู้เชี่ยวชาญใช้อุปกรณ์ผ่าตัดที่เชื่อมระบบ IoT ได้เสมือนอยู่ในสถานที่เดียวกัน ซึ่งคาดว่าจะเป็นไปได้ในอนาคตไม่ไกลจากนี้
Big Data หรือคลังข้อมูลจำนวนมหาศาลที่เป็นวัตถุดิบชั้นดีในการนำมาวิเคราะห์เพื่อต่อยอดให้เกิดศักยภาพสูงสุด เช่น ซูเปอร์มาร์เก็ตรวบรวมข้อมูลการซื้อสินค้า และพฤติกรรมการใช้จ่ายของลูกค้ามาเพื่อวิเคราะห์ถึงความสนใจ เพื่อนำไปสู่การเสนอขายสินค้าที่ตรงความต้องการของลูกค้าแต่ละคนในเวลาที่เหมาะสม ซึ่งช่วยสร้างความประทับใจกับกลุ่มเป้าหมาย และเพิ่มยอดขายได้ในเวลาเดียวกัน
NDID ย่อมาจาก National Digital ID คือหน่วยงานที่เปิดขึ้นเพื่อสร้างระบบการพิสูจน์ และยืนยันตัวตนผ่านระบบดิจิทัล ซึ่งเป็นการนำเทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามาประยุกต์ใช้ เพื่อช่วยพิสูจน์ และยืนยันตัวตนของประชาชนไทยในการทำธุรกรรมหรือใช้เอกสารต่างๆ ของทางราชการ ช่วยลดความซ้ำซ้อนของหลายหน่วยงาน ช่วยลดความสิ้นเปลืองทั้งเวลา ทรัพยากร และลดภาระแก่ผู้แสดงตนและผู้มีหน้าที่ในการตรวจสอบความถูกต้องและยืนยันตัวตน
ESG จะเป็นแนวคิดที่ผู้ลงทุนเริ่มรู้จักและใช้ประกอบการพิจารณาลงทุนมากขึ้น โดยแนวคิดเรื่อง ESG จะให้ความสำคัญ กับการทำธุรกิจโดยคำนึงถึงความรับผิดชอบใน 3 ด้านหลัก คือ ด้านสิ่งแวดล้อม (Environmental) ด้านสังคม (Social) และด้านบรรษัทภิบาล (Governance) ซึ่งเป็นประเด็นที่จะส่งผลกระทบต่อผลประกอบการ และการเติบโตอย่างยั่งยืนของบริษัทหรือองค์กรในอนาคต
BCG Economy เป็นลักษณะการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ 3 เศรษฐกิจหลัก คือ B (Bio Economy) ระบบเศรษฐกิจชีวภาพ มุ่งเน้นการใช้ทรัพยากรชีวภาพอย่างคุ้มค่า เชื่อมโยงกับ C (Circular Economy) ระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน ที่คำนึงถึงการนำวัสดุต่างๆ กลับมาใช้ประโยชน์ให้มากที่สุด และทั้ง 2 เศรษฐกิจนี้ อยู่ภายใต้ G (Green Economy) ระบบเศรษฐกิจสีเขียว ซึ่งมุ่งแก้ไขปัญหามลพิษ เพื่อลดผลกระทบต่อโลกอย่างยั่งยืน ซึ่งทั้ง 3 จิ๊กซอว์นี้จะได้รับการยอมรับมากขึ้นในการผลักดันเศรษฐกิจ ซึ่งจะช่วยต่อยอดจุดแข็งของประเทศให้มีมูลค่าเพิ่มขึ้นได้
GDPR ย่อมาจาก “General Data Protection Regulation” เป็นกฎหมายของสหภาพยุโรปว่าด้วยมาตรการคุ้มครองความเป็นส่วนตัวของข้อมูลส่วนบุคคล ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 25 พ.ค. 61 ที่ผ่านมา อย่างไรก็ตาม กฎหมายนี้มีความเกี่ยวข้องกับทั้งหน่วยงานรัฐ เอกชน หรือแม้แต่ภาคธุรกิจที่มีการดำเนินการเกี่ยวกับการเก็บข้อมูลส่วนบุคคล หรือบริการออนไลน์แก่บุคคลที่อยู่ในสหภาพยุโรป ดังนั้น ผู้ที่ทำธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับชาวต่างชาติ ฝั่งยุโรปจึงมีความจำเป็นที่จะต้องทำความเข้าใจกับกฎหมายนี้ เพื่อส่งเสริมการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลของภาคธุรกิจให้เทียบเท่ากับมาตรฐานสากล และป้องกันผลกระทบจากกฎหมายที่อาจเกิดขึ้น
จะเห็นได้ว่าคำศัพท์หลายคำ เป็นสิ่งที่ได้ยินกันคนชินหูในแวดวงธุรกิจตั้งแต่ปีที่แล้ว หรือหลายปีก่อนหน้า แต่จะยังถูกกล่าวถึงบ่อยๆ ในปีนี้เช่นกัน เสมือนเป็นการย้ำเตือนว่าการเปลี่ยนแปลงในโลกธุรกิจยังคงต้องดำเนินต่อไปเรื่อยๆ ไม่มีที่สิ้นสุด และการพยายามปรับตัวให้สอดรับกับสิ่งใหม่ๆ การเปลี่ยนแปลงใหม่ๆ ที่เกิดขึ้นจะเป็นโอกาสเข้าใกล้ความสำเร็จได้
โดย ปณิดดา เกษมจันทโชติ