"100 ซีอีโอ" นิยามธุรกิจปี 63 ปีแห่งการทรานส์ฟอร์มองค์กรรับมือเทคโนโลยี พฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยน ชู "ดิจิทัล ดิสรัป" ความท้าทายสำคัญ แนะสูตรรอดพัฒนาโมเดลธุรกิจใหม่ หนุนคนรุ่นใหม่เพิ่มมุมมองทางธุรกิจเท่าทันการเปลี่ยนแปลง ซีอีโอกว่า 80% พร้อมเดินแผนลงทุนต่อ แม้ยังหวั่นเศรษฐกิจโลก-ไทยผันผวน หนุนรัฐอัดมาตรการกระตุ้นเพิ่ม ขณะที่นักเศรษฐศาสตร์ประเมินเศรษฐกิจไทยปี 63 ยัง "โตชะลอ" พิษสงครามการค้าส่อยืดเยื้อ หวัง "ลงทุนรัฐ-ท่องเที่ยว" ขับเคลื่อน "จีดีพี" ปีนี้
ปี 2563 ประเทศไทยยังต้องเผชิญความท้าทายและปัจจัยเสี่ยงรอบด้าน ทั้งจากเศรษฐกิจโลกที่ยังชะลอลามถึงในประเทศ ส่งผลต่อสภาพคล่องเศรษฐกิจทั้งระบบ บวกค่าเงินบาทที่แข็ง ภาครัฐจำเป็นต้องเร่งหามาตรการอัดฉีด เสริมสภาพคล่อง ปลุกเร้ากำลังซื้อ หนุนการลงทุนเพิ่มเพื่อพยุงให้เศรษฐกิจขับเคลื่อนต่อได้
"กรุงเทพธุรกิจ" สำรวจความคิดเห็น "100 ซีอีโอ : มุมมองเศรษฐกิจ-ธุรกิจไทย ปี 2563" จากธุรกิจหลากหลายกลุ่ม เช่น ภาคการผลิต เกษตร พลังงาน อสังหาริมทรัพย์ ส่งออก การเงิน ค้าปลีกและไอทีดิจิทัล ที่มีรายได้ตั้งแต่พันล้านขึ้นไป รวมถึง "สูตรรอด" ของธุรกิจท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงของระบบเศรษฐกิจยุคใหม่
"ดิจิทัลดิสรัป" ท้าท้ายมากสุด
ผลสำรวจ พบว่า ซีอีโอมากกว่า 40% มองว่าความท้าทายการดำเนินธุรกิจปี 2563 ยังเป็นเรื่อง "ดิจิทัล ดิสรัปชั่น" ซึ่งปีที่ผ่านมา ธุรกิจในไทยมีความตื่นตัว และพยายามปรับเปลี่ยนองค์กรเพื่อรับมือกับเข้ามาดิสรัปของเทคโนโลยียุคใหม่ ธุรกิจกลุ่มหลักๆ เช่น ธนาคาร สถาบันการเงิน ค้าปลีก ภาคการผลิต บริการต่างๆ นำนวัตกรรมเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของการขับเคลื่อนธุรกิจ รวมถึงการตระหนักมากขึ้นในเรื่องการเพิ่มทักษะ "คน" ในองค์กร
ความท้าทายรองลงมา คือ เรื่องปัญหาการเมืองในประเทศ มีสัดส่วน 23.7% และความท้าทายเรื่องสงครามการค้า 13.4% อย่างไรก็ดี มีซีอีโอบางส่วนราว 9.3% ให้น้ำหนักความท้าทายไปที่การ "แข็งค่าของเงินบาท" ซึ่งกำลังเป็นประเด็นสำคัญส่งผลต่อเศรษฐกิจภาพรวมของประเทศในขณะนี้
หาโมเดลธุรกิจใหม่สร้างทางรอด
อย่างไรก็ตาม ซีอีโอมากกว่า 50% แนะสูตรรอดการเปลี่ยนผ่านองค์กร ให้มุ่งไปที่การพัฒนาโมเดลธุรกิจ หรือแพลตฟอร์มใหม่ เพื่อหารายได้ใหม่ๆ ไม่ยึดติดโมเดลความสำเร็จแบบเดิม ขณะที่อีก 35% มองว่า ต้องพัฒนาผู้บริหารรุ่นใหม่ หรือคนรุ่นใหม่เพื่อเพิ่มมุมมองทางธุรกิจที่เท่าทันการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี และพฤติกรรมของผู้บริโภค
แม้ความท้าทายที่ต้องเผชิญยังมีอยู่มาก แต่การสำรวจครั้งนี้ ซีอีโอมากกว่า 80% ยังคงเดินหน้าธุรกิจอย่างต่อเนื่องตามแผนที่วางไว้ โดยราว 35% บอกว่าสามารถปรับแผนธุรกิจได้ภายใน 3 เดือน ขณะที่ 30% ใช้เวลาปรับแผนธุรกิจเร็วที่สุด 6 เดือน
"ปีแห่งการทรานส์ฟอร์มองค์กร"
เมื่อถามถึงนิยามธุรกิจปี 2563 ซีอีโอเกือบ 40% ให้นิยามปี 2563 เป็น "ปีแห่งการทรานส์ฟอร์มองค์กร" รับมือการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีและพฤติกรรมผู้บริโภค ขณะที่ 24.5% ให้นิยามว่าเป็น "ปีแห่งการรับมือ ตั้งรับเศรษฐกิจถดถอย" ที่ต้องระมัดระวังการค้า การลงทุน ควบคุมค่าใช้จ่าย
ทั้งนี้ ปี 2562 ที่ผ่านมา ความตื่นตัวเรื่องการทรานส์ฟอร์ม มีความชัดเจนมากในประเทศไทย เกิดสูตรทรานส์ฟอร์มในธุรกิจมากมาย ท่ามกลางเทคโนโลยีที่เปลี่ยนเร็วมาก สอดรับพฤติกรรมผู้บริโภคที่ไม่ต้องการบริการแบบเดิมอีกต่อไป ขณะที่โครงสร้างเศรษฐกิจก็เปลี่ยน ผลจากเทคโนโลยี และสงครามการค้า ทำให้ซีอีโอที่ตอบแบบสำรวจครั้งนี้เทน้ำหนักไปทั้ง "การทรานส์ฟอร์ม" ขณะเดียวกันต้อง "ตั้งรับและรับมือเศรษฐกิจที่ถดถอย" ด้วย
สำหรับทิศทางธุรกิจปี 2563 เมื่อเทียบกับปี 2562 ซีอีโอราว 60% ไม่ฟันธงอย่างชัดเจน โดยครึ่งๆ บอกว่าอาจจะดีขึ้นเล็กน้อย หรือ อาจจะแย่ลงเล็กน้อย โดยเหตุผลสำคัญซีอีโอ กว่า 43% ให้น้ำหนักมากในเรื่อง ทิศทางเศรษฐกิจโลกที่มีความไม่แน่นอนสูง โดยเฉพาะผลกระทบจากสงครามการค้าที่ส่อเค้ายืดเยื้อ
หนุนรัฐกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่ม
ส่วนข้อเสนอแนะต่อภาครัฐที่สำคัญที่สุดในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจปี 2563 ซีอีโอ 45.5% บอกว่า รัฐต้องเพิ่มมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ รองลงมา คือ เร่งสร้างเสถียรภาพทางการเมือง รวมถึงดูแลการแข็งค่าของเงินบาท และอัตรานโยบายดอกเบี้ยที่เอื้อต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจ อย่างไรก็ตาม ซีอีโอบางส่วนเสนอแนะให้รัฐบาลเปลี่ยนทีมเศรษฐกิจด้วยคิดเป็นสัดส่วนราว 15.2%
การสำรวจครั้งนี้ ยังได้สำรวจภาพรวมของธุรกิจในปี 2562 ที่ผ่านมา โดยซีอีโอเกือบ 50% บอกว่า ยอดขายปี 2562 เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับปี 2561 ขณะที่ 29.6% บอกว่าธุรกิจมียอดขายที่ลดลง และ 21.4% บอกว่ายอดขายทรงตัว
ซีอีโอมากกว่า 70% บอกว่า ปัจจัยที่กระทบต่อยอดขาย และการดำเนินธุรกิจปี 2562 มาจากเศรษฐกิจโลกและไทยที่ชะลอตัว ขณะที่ 13% มองว่า มาจากการเมืองไร้เสถียรภาพ และ 7% มองปัจจัยเรื่องการแข็งค่าของเงินบาทที่กระทบต่อยอดขายในปีที่ผ่านมา
100 ซีอีโอร่วมเซอร์เวย์
การสำรวจครั้งนี้ มีซีอีโอในภาคธุรกิจต่างๆ ทั้งหมด 100 คน ร่วมตอบแบบสอบถาม ประกอบด้วย ซีอีโอกลุ่มการเงิน คิดเป็น 24% ภาคการผลิต 12.5% กลุ่มไอที โทรคม ดิจิทัล 11.5% รองลงมาอยู่ในกลุ่ม อสังหาริมทรัพย์ ท่องเที่ยว พลังงาน รถยนต์ ค้าปลีก อุปโภคบริโภค ส่งออก และบริการ
อย่างไรก็ตามกลุ่มซีอีโอที่ถูกสำรวจมียอดขายปี 2562 ตั้งแต่ระดับต่ำกว่า 1,000 ล้านบาทไปจนถึง 50,000 ล้านบาท โดยมากกว่า 43.9% ประเมินยอดขายในปี 2562 ต่ำกว่า 1,000 ล้านบาท รองลงมา 19.4% ประเมินว่า ยอดขายจะมากกว่า 1,001-5,000 ล้านบาท ขณะที่ 14.3% ประเมินว่าอยู่ในระดับ 10,001-50,000 ล้านบาท โดยปัจจัยสำคัญมากจากเศรษฐกิจโลก และไทยที่ชะลอตัว
ก่อนหน้านี้ เมื่อปี 2562 ที่ผ่านมา กรุงเทพธุรกิจ ได้สำรวจ 50 ซีอีโอ ถึงภาพรวมของเศรษฐกิจ ในไตรมาสที่ 4 ซึ่งผลสำรวจหลักครั้งนั้น ซีอีโอ กังวลภาพรวมเศรษฐกิจ และพยายามประคับประคองธุรกิจ แต่ยังคงแผนการลงทุนเอาไว้เพื่อรักษาระดับการเติบโต รวมถึงพยายามหาแนวทางเจาะตลาดใหม่ทั้งในและต่างประเทศ
ขณะที่ ซีอีโอ 23.6% มีแผนแตกไลน์ธุรกิจเพื่อกระจายความเสี่ยง ทีี่สำคัญข้อเสนอแนะของซีอีโอครั้งนั้น ยังต้องการให้รัฐบาลเพิ่มมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ดูแลค่าเงินบาท ใช้มาตรการลดอัตราดอกเบี้ย รวมถึงเสนอให้รัฐบาลเปลี่ยนทีมเศรษฐกิจใหม่ ซึ่งไม่แตกต่างจากการสำรวจในครั้งนี้
นักเศรษฐศาสตร์ชี้ ศก.ปี 63 โตชะลอ
นายอมรเทพ จาวะลา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ สายงานวิจัย ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย กล่าวว่า แนวโน้มเศรษฐกิจไทยปีนี้ เชื่อว่ายังคงชะลอตัวต่อเนื่อง แต่ไม่ถึงขั้นเกิดวิกฤติเศรษฐกิจ โดยฝ่ายวิจัยธนาคารซีไอเอ็มบีไทย ประเมินการเติบโตทางเศรษฐกิจไทยปีนี้ไว้ 2.7% ขยายตัวดีขึ้น เมื่อเทียบกับปี 2562 ที่คาดจะเติบโตในระดับ 2.4%
"ความผันผวนเศรษฐกิจปี 2563 ยังคงมีอยู่ จากทั้งสงครามการค้าที่ส่อเค้ายืดเยื้อ และรัฐบาลสหรัฐเองยังกดดันจีนต่อเนื่อง ทำให้เศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มผันผวน แต่เราเชื่อว่าจะไม่ถึงขั้นเกิดเป็นวิกฤตเศรษฐกิจ เพียงแต่จะทำให้เศรษฐกิจชะลอลงบ้าง ต้องติดตามดูว่าจะกระทบต่อภาคส่งออกของไทยอย่างไร"
นายอมรเทพ จาวะลา
ส่วนภาพรวมเศรษฐกิจไทยปี 2563 แบ่งออกเป็น 2 ช่วง คือ ครึ่งปีแรก ประเมินว่าเศรษฐกิจจะชะลอตัวลงต่อเนื่อง จากความเสี่ยงหลายด้าน กระทบไปยังการลงทุนภาคเอกชนที่ยังไม่กลับมา แม้รัฐบาลพยายามเร่งขับเคลื่อนการลงทุนในอีอีซี แต่ทั้งหมดนี้ยังคงต้องใช้เวลา
คาดเศรษฐกิจเริ่มฟื้นครึ่งหลังปี 63
อย่างไรก็ตาม ฝ่ายวิจัยธนาคารซีไอเอ็มบี ประเมินว่า เศรษฐกิจครึ่งปีหลังจะเริ่มฟื้นตัวได้ดี มีปัจจัยหนุนจากการลงทุนภาครัฐที่เริ่มกลับมาหลังงบประมาณปี 2563 ได้รับการอนุมัติ ซึ่งจะเริ่มเห็นการลงทุนภาครัฐมากขึ้นช่วงครึ่งปีหลังของปีนี้เป็นต้นไป ประกอบกับการย้ายฐานผลิตเข้ามาไทยจากปัญหาสงครามการค้าระหว่างสหรัฐกับจีน จะเริ่มชัดเจนมากขึ้นด้วย
สำหรับการบริโภคยังขยายตัวค่อยเป็นค่อยไป ปัจจัยหนุนจากการท่องเที่ยวที่เติบโตดีต่อเนื่อง แต่อาจมีตัวฉุดรั้งจากการบริโภคสินค้าคงทน โดยเฉพาะรถยนต์มีแนวโน้มชะลอตัว
นายอมรเทพ กล่าวด้วยว่า โดยรวมแล้วพระเอกสำหรับเศรษฐกิจไทยในปี 2563 มี 3 ตัวหลัก คือการลงทุนภาคเอกชน ที่เกิดจากการชักชวนของภาครัฐให้เข้ามาลงทุนในประเทศ 2.งบประมาณที่ผ่านความเห็นชอบจากสภา จะเป็นตัวหนุนให้การลงทุนภาครัฐกลับมาเป็นพระเอก ทั้งยังทำให้รัฐบาลมีเครื่องมือกระตุ้นเศรษฐกิจที่หลากหลายขึ้น และ 3.ภาคการท่องเที่ยวยังมีส่วนช่วยให้เศรษฐกิจโดยรวมขยายตัวต่อเนื่อง
ชี้เศรษฐกิจยังเปราะบางหลายด้าน
นายสมประวิณ มันประเสริฐ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ สายงานวิจัย ธนาคารกรุงศรีอยุธยา กล่าวว่า แนวโน้มเศรษฐกิจไทยปี 2563 มีความเสี่ยงในด้านต่ำ โดยฝ่ายวิจัยประเมินการเติบโตทางเศรษฐกิจไทยปีนี้ไว้ที่ 2.5% ขยายตัวขึ้นเล็กน้อยเมื่อเทียบกับปี 2562 ที่ประเมินการเติบโตอยู่ที่ 2.4%
"เศรษฐกิจปี 2563 มีความเปราะบางมากขึ้นจากหลายด้าน กลไกที่ทำให้เศรษฐกิจชะลอตัวลงเร็ว คือระบบการเงินที่ยังตึงตัว โดยระบบการเงินของเราเวลานี้ต้องถือว่ายังตึงตัว ขณะที่ภาพรวมเศรษฐกิจยังไม่ดี ดังนั้นทุกภาคอุตสาหกรรมจึงควรต้องระมัดระวังให้มากขึ้น"
นายสมประวิณ มันประเสริฐ
นายสมประวิณ กล่าวว่า ในภาวะเศรษฐกิจแบบนี้ นโยบายการเงินควรผ่อนคลายเพิ่มเติม ขณะที่นโยบายการคลังต้องเข้ามามีส่วนร่วมกระตุ้นเศรษฐกิจที่มากขึ้น แปลได้ว่าทั้งนโยบายการเงินและนโยบายการคลังเวลานี้ยังมีส่วนในการดูแลเศรษฐกิจน้อย
หวัง "ลงทุนรัฐ-ท่องเที่ยว" พระเอกหลัก
สำหรับตัวที่น่าจะเป็นพระเอกของเศรษฐกิจไทยปีนี้ คือ การลงทุนภาครัฐ ซึ่งมีแนวโน้มมากขึ้นเมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา หลังงบประมาณปี 2563 ผ่านสภาได้ และภาคการท่องเที่ยวที่แนวโน้มยังคงขยายตัวได้ต่อเนื่อง ทั้ง2 ส่วนนี้ถือตัวสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยปี 2563
ส่วนการส่งออกยังทรงตัว โดยฝ่ายวิจัยกรุงศรี ประเมินการส่งออกในปี 2563 กลับมาขยายตัวเล็กน้อยที่ 1.5% เทียบกับปี 2562 ที่คาดว่าจะหดตัวราว 2.5% ขณะที่ภาพรวมเศรษฐกิจโลกเริ่มทรงตัว โอกาสที่จะทรุดตัวลงต่อมีน้อย จึงน่าจะทำให้การส่งออกเริ่มกลับมาขยายตัวได้เล็กน้อย
ศก.ปี 63 ยังไม่ฟื้นจากไข้
นายพชรพจน์ นันทรามาศ ผู้อำนวยการฝ่ายอาวุโส สายงาน Global Business Development and Strategy ธนาคารกรุงไทย กล่าวว่า เศรษฐกิจไทยปี 2563 มีแนวโน้มขยายตัวที่ 2.8% โดยภาพรวมของปีนี้ยังถูกฉุดด้วย สงครามการค้าระหว่างประเทศ ซึ่งแม้การเจรจาจะคืบหน้าแต่ความไม่ชัดเจนยังมีอยู่สูง ทำให้ภาคการส่งออกไม่น่ากลับมาเติบโตได้ หรือเติบโตได้เพียงเล็กน้อยเท่านั้น ขณะที่การลงทุนใหม่อาจเห็นได้น้อย เพราะได้รับผลกระทบจากสงครามการค้าอยู่
ส่วนพระเอกหลักของเศรษฐกิจไทยปี 2563 หลักๆ คือ ภาคการท่องเที่ยว ที่ถือเป็นปัจจัยบวกหลักของเศรษฐกิจไทย และการลงทุนภาครัฐ ที่คาดจะเห็นเม็ดเงินการลงทุนเพิ่มขึ้น
"เศรษฐกิจไทยปีนี้ อาการเหมือนคนที่ยังไม่ฟื้นไข้ หลังติดไข้จากต่างประเทศในปีที่ผ่านมา เป็นเหตุให้ทุกคนประมาณการเศรษฐกิจผิดพลาดไปเยอะ เพราะเดิมต้นปี 2562 คาดกันว่าจะโตได้ถึง 4% แต่ตัวเลขจริงน่าจะออกมาเพียง 2.5% เท่านั้น แปลว่าไข้จากต่างประเทศส่งผลต่อเราค่อนข้างแรง ในปีนี้แม้เราจะยังติดไข้อยู่ แต่ก็เริ่มมีภูมิคุ้มกันบ้างแล้ว อาการจึงไม่แรงเท่าปีก่อน และเราก็เริ่มรู้ว่าควรป้องกันยังไง"
นายพชรพจน์ นันทรามา
จับตา กนง.จ่อลดดอกเบี้ยเพิ่ม
นายทิม ลีฬหะพันธุ์ นักเศรษฐศาสตร์ ธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด์ (ไทย) กล่าวว่า เศรษฐกิจไทยปี 2563 ยังไม่เห็นการฟื้นตัว โดยการเติบโตน่าจะยังต่ำกว่าระดับ 4% ซึ่งถือเป็นระดับที่ต่ำกว่าศักยภาพ ต่างกับอดีตที่เศรษฐกิจไทยเติบโตเกิน 4% ขณะที่ภาคการท่องเที่ยวที่เหมือนเป็นพระเอกยังไม่เห็นการฟื้นตัวชัดเจนปีนี้ ซึ่งตัวเลขท่องเที่ยวที่ดีขึ้น มาจากฐานต่ำหรือไม่ ทำให้ท่องเที่ยวเติบโตได้ดีในช่วง 2 เดือนสุดท้ายของปี 2562 ที่ผ่านมา
โดยปี 2563 มี 3 ปัจจัยที่ต้องติดตาม ปัจจัยแรก คาดว่า กนง.มีโอกาสลดดอกเบี้ยหนึ่งครั้งในต้นปี 2563 เหลือ 1.0% จากการคาดการณ์ของ กนง.ที่คาดว่าเศรษฐกิจเติบโตลดลง ส่งออกยังไม่เห็นการฟื้นตัว ทำให้มุมมองปีนี้เศรษฐกิจ ไม่ได้บู้มากนัก เป็นปีที่จีดีพีจะเติบโตระดับกลางๆ ที่ 3.0% จากปี 2562 ที่คาดขนายตัว 2.5%
ปัจจัยที่สอง ตัวเลขเศรษฐกิจหลายตัว ที่เป็นตัวหนุนไม่ฟื้นตัวชัดเจน ปัจจัยสุดท้ายที่ต้องติดตามใกล้ชิดคือ ปัจจัยการเมือง ที่มีหลายด้านต้องติดตาม ทั้งการโหวตงบประมาณลงทุน การอภิปายไม่ไว้วางใจรัฐบาล และศาลรัฐธรรมนูญตัดสิน "อนาคตใหม่"